แสตมป์ ปีใหม่ 2563 แบบชุด
วันแรกจำหน่าย 15 พฤศจิกายน 2562
แสตมป์ชุดปีใหม่ 2563 ภาพ “ขนมไทย” สีสันสดใสสวยงาม สะท้อนเอกลักษณ์ของชาติไทยอย่างโดดเด่น แม้เพียงมองก็ชวนสะดุดตา และเมื่อได้ลองชิมยิ่งติดใจในความหอมหวานแห่งรสชาติสำหรับขนมไทยบนดวงแสตมป์ทั้ง 4 ชนิด นักออกแบบวางกรอบคิดไว้ให้เป็นขนมที่บรรจุในภาชนะใบตอง 2 ชนิด คือ ขนมครก และขนมตาล ส่วนอีก 2 ชนิด ไม่ได้บรรจุในภาชนะใบตอง คือ ขนมกระเช้าสีดา และขนมอาลัว
สินค้าประกอบด้วยแสตมป์ ปีใหม่ 2563 แบบชุด
** ระยะเวลาจัดส่ง 5 วันทำการ
ขนมไทย ความอร่อยเหนือกาลเวลา
วันแรกจำหน่าย 15 พฤศจิกายน 2562
แสตมป์ชุดปีใหม่ 2563 ภาพ “ขนมไทย” สีสันสดใสสวยงาม สะท้อนเอกลักษณ์ของชาติไทยอย่างโดดเด่น แม้เพียงมองก็ชวนสะดุดตา และเมื่อได้ลองชิมยิ่งติดใจในความหอมหวานแห่งรสชาติสำหรับขนมไทยบนดวงแสตมป์ทั้ง 4 ชนิด นักออกแบบวางกรอบคิดไว้ให้เป็นขนมที่บรรจุในภาชนะใบตอง 2 ชนิด คือ ขนมครก และขนมตาล ส่วนอีก 2 ชนิด ไม่ได้บรรจุในภาชนะใบตอง คือ ขนมกระเช้าสีดา และขนมอาลัว
ขนมครก ทำจากแป้ง น้ำตาล และกะทิ แล้วเทลงบนเตาหลุม เวลาจะรับประทานต้องแคะออกมาเป็นแผ่นวงกลม นิยมใส่กระทงใบตอง และมักวางประกบกันตอนรับประทาน เป็นขนมไทยโบราณมีหลักฐานว่าเป็นที่แพร่หลายมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่เดิมใช้ข้าวเจ้าแช่น้ำ โม่รวมกับหางกะทิ ข้าวสวย และมะพร้าวทึนทึกขูดฝอย ผสมเกลือเล็กน้อยใช้เป็นตัวขนม ส่วนหน้าของขนมครกเป็นหัวกะทิ สำหรับ “ขนมครกชาววัง” จะมีการดัดแปลงหน้าขนมครกให้แปลกไปอีก เช่น หน้ากุ้ง หน้าไข่ หน้าหมู หน้าเผือก หน้าข้าวโพด และหน้าต้นหอม
ขนมกระเช้าสีดา มีที่มาจากต้นกระเช้าสีดาในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ มีลักษณะโดดเด่นเฉพาะตัว โดยตัวขนมทำจากมะพร้าวแก้วรสหวาน มีหลากหลายสีสันเพื่อความสวยงาม ใส่ในกระเช้าที่ทำจากแป้ง จากนั้นตกแต่งด้วยดอกไม้น้ำตาลเล็ก ๆ เพื่อเพิ่มความน่ารับประทาน นับเป็นขนมไทยโบราณที่หารับประทานค่อนข้างยาก เนื่องจากต้องใช้ความประณีต และความละเอียดอ่อนในการทำสูง หากคนทำไม่มีฝีมือจริง ๆ ตัวกระเช้าอาจเบี้ยวและไม่สวยงามได้ จัดเป็นขนมไทยระดับงามสะดุดตา รสชาติสะดุดใจอีกชนิดหนึ่ง
ขนมอาลัว ทำจากแป้ง ผิวด้านนอกเป็นน้ำตาลแข็ง ด้านในเป็นแป้งหนืด มักทำเป็นอันเล็ก ๆ มีหลายสี มีกลิ่นหอมหวาน ชื่ออาลัวมีความหมายว่า “เสน่ห์ดึงดูดใจ” แบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ อาลัวชาววัง และอาลัวจิ๋ว โดยมีความแตกต่างกันคือ อาลัวชาววังมีขนาดใหญ่กว่า และมีส่วนผสมของกะทิมากกว่าอาลัวจิ๋ว มีต้นกำเนิดมาจากประเทศโปรตุเกส ถูกนำเข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทยครั้งแรกโดย “ท้าวทองกีบม้า” นามบรรดาศักดิ์ของข้าราชสำนักฝ่ายในมีหน้าที่ประกอบประดิษฐ์เครื่องเสวย มีชื่อเต็มว่า มารีอา กูโยมาร์ เด ปิญญา หรือเรียกสั้น ๆ ว่า มารี กีมาร์
ขนมตาล จัดเป็นขนมไทยดั้งเดิม เนื้อขนมมีลักษณะเป็นแป้งสีเหลืองเข้ม นุ่ม ฟู มีกลิ่นตาลหอมหวาน ทำจากเนื้อตาลที่สุกงอม แป้งข้าวเจ้า กะทิ และน้ำตาล ผสมกันตามกรรมวิธี ใส่กระทงใบตอง โรยมะพร้าวขูด และนำไปนึ่งจนสุก สำหรับเนื้อลูกตาลยีที่เป็นส่วนผสมในการทำขนมตาล ได้จากการนำผลตาลที่สุกจนเหลืองดำ เนื้อข้างในมีสีเหลือง มีกลิ่นแรง ซึ่งส่วนมากจะหล่นจากต้นเอง มาปอกเปลือกออก นำมายีกับน้ำสะอาดให้หมดสีเหลือง นำน้ำที่ยีแล้วใส่ถุงผ้าผูกไว้ให้น้ำตกเหลือแต่เนื้อลูกตาล
ขนมไทยคือสุดยอดของวัตถุดิบชั้นดี กรรมวิธีละเอียดอ่อน ทั้งยังเก็บซับสิ่งที่รับมาจากต่างชาติอย่างแนบเนียน กระทั่งกลมกลืนเป็นเอกลักษณ์ขนมไทยเลิศรสตราบปัจจุบัน