“ข้าวฮางทิพย์” เป็นอีกหนึ่งแบรนด์สินค้าชุมชนที่สำคัญ เนื่องจากทางไปรษณีย์ไทยได้เล็งเห็นถึงความโดดเด่นของข้าวฮางทิพย์ที่มีมาอย่างยาวนานกว่า 200 ปี ของชาวสกลนคร จึงได้ส่งเสริมและสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนข้าวฮางทิพย์ให้สามารถยกระดับข้าวฮางสามสีออกสู่ท้องตลาดได้ภายใต้โครงการ “ไปรษณีย์เพิ่มสุข” ทำให้ตลอดระยะเวลา 9 ปีสามารถทำให้ชุมชนและชาวบ้านกุดจิก จังหวัดสกลนครมีรายได้เพิ่มจากการยกระดับข้าวฮางทิพย์และยังได้การยอมรับในฐานะ OTOP ระดับสามดาวอีกด้วย
ข้าวฮาง คือการนำข้าวเปลือกระยะน้ำนม ผ่านขั้นตอนการฮาง ซึ่งจะนำข้าวเปลือกไปแช่เพื่อเป็นการบ่มข้าวเปลือก แล้วนำไปนึ่งให้ข้าวสุก เป็นการรักษาสารอาหารจากเปลือกมาเคลือบที่เมล็ดข้าวเพิ่มขึ้น แล้วนำข้าวเปลือกไปผึ่งให้แห้ง ซึ่งข้าวฮางจะมีสารอาหาร วิตามิน แร่ธาตุ ไฟเบอร์ และกลิ่นหอม จึงทำให้ข้าวฮางมีสารอาหารมากกว่า ข้าวกล้องงอก มีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่าธัญพืชทั้งหลาย ช่วยให้สุขภาพแข็งแรงและสมดุล เพิ่มภูมิต้านทาน ช่วยป้องกันเชื้อโรคหรือโรคที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคได้ดี เช่น ความดัน เบาหวานไขมันสูง โรคหัวใจ โรคอ้วน ไขข้ออักเสบ โรคไต โรคเกี่ยวกับประสาทและสมอง ความจำเสื่อม การแก่เกินวัย โรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ เป็นต้น
ข้าวฮางมีกล่าวในตำนานภูไทซึ่งเล่าขานกันมานานกว่า 200 ปี ว่า ท้าวผาอินจะอพยพมาอยู่บ้านนาบ่อ แต่มีลูกหลายคน และทำนาข้าวไม่พอกินถึงก่อนฤดูกาลเก็บเกี่ยว จึงได้เกี่ยวข้าวที่ใกล้จะสุกมาหมักแล้วกลายเป็นข้าวฮาง นับแต่นั้นมาท้าวผาอินก็มีข้าวให้ลูกกิน ดังนั้น ข้าวฮาง จึงนับเป็นข้าวสารแปรรูปที่ผลิตขึ้นตามกรรมวิธี ภูมิปัญญาของชาวภูไท มานาน ด้วยการนำเอาข้าวเปลือกมาแช่น้ำไว้ กระตุ้นให้สารอาหารต่าง ๆ จากเปลือกข้าวซึมเข้าไปในเมล็ดข้าว
จากนั้นจึงนำมานึ่ง เพื่อจัดเก็บสารอาหารให้คงไว้ แล้วนำข้าวเปลือกไปตากให้แห้ง นำไปสีโดยเครื่องสีข้าวกะเทาะเปลือก ซึ่งการนำข้าวเปลือกมาแช่น้ำนั้น เป็นการกระตุ้นให้เกิดการงอกของข้าว ทำให้ผลิตสารชนิดหนึ่งขึ้นมา คือสาร GABA (กาบา) ที่มีส่วนในเรื่องความจำ และเป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
ในส่วนของ “ข้าวฮางทิพย์” และวิสาหกิจชุมชนข้าวฮางทิพย์นั้น จากจุดเริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน วิสาหกิจชุมชนข้าวฮางทิพย์มีสมาชิกรวม 28 ราย จัดอยู่ในหมวดหมู่วิสาหกิจชุมชนเงินล้าน มีผลผลิตข้าวเปลือกที่นำมาแปรรูปทำข้าวฮาง ประมาณ 15,000 กิโลกรัม และวิสาหกิจชุมชนฯ มีการรับซื้อข้าวเปลือกจากเครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่ 25,000 กิโลกรัม มีตลาดรองรับที่สำคัญ ได้แก่ รพ.วานรนิวาส เพื่อทำเป็นอาหารสุขภาพสำหรับผู้ป่วย และแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ตามออเดอร์ เช่น แป้งข้าวฮางสำหรับทำขนม คุกกี้ข้าวฮาง เค้กกล้วยหอม บราวนี่ ขนมปังกรอบ ชิฟฟ่อนข้าวฮาง การขายปลีกบนช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ เช่น ที่ทำการไปรษณีย์ฯ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือกว่า 90 แห่ง มีการผลิตและมีบรรจุภัณฑ์ที่รองรับกับการจัดส่งในพื้นที่ต่างๆ ทั้งการแพ็คแบบสุญญากาศในกล่อง และการบรรจุแบบขวด สามารถส่งข้าวฮางออกจำหน่ายได้ทั่วประเทศ